ข่าวสารและบทความล่าสุด

Athentic Consulting’s team of experienced experts bring you the
latest news and insights in law and regulations.

จับตาโดรนกับข้อมูลส่วนบุคคล: ใช้อย่างไรไม่ให้ละเมิดสิทธิ

ปัจจุบันวงการถ่ายภาพหรือวิดีโอมีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างแพร่หลาย ปฏิเสธไม่ได้ว่า “โดรน” เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมและมักถูกนำมาใช้ในการเก็บบันทึกภาพต่าง ๆ เนื่องจากโดรนหลายประเภทมักติดตั้งเทคโนโลยีสำหรับเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น ภาพถ่าย วิดีโอ เสียง ข้อมูลชีวภาพ ข้อมูลภูมิสารสนเทศ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ หรือข้อมูลโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่โดรนเก็บรวบรวมนั้นอาจเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรืออาจชัดเจนจนสามารถระบุตัวตนของบุคคลได้ ดังนั้น การใช้โดรนอาจกระทบต่อสิทธิในการคุ้มครองข้อมูลของบุคคล และเข้าข่ายการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้หากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง

โดรน (Drone) หรืออากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) เป็นอากาศยานที่ไม่มีนักบินประจำการอยู่บนอากาศยาน โดยสามารถควบคุมได้ 2 ลักษณะ คือการควบคุมอัตโนมัติจากระยะไกล โดยการควบคุมจากหอบังคับการบินที่มีนักบินประจำการอยู่บนภาคพื้นในระยะที่ไม่ไกลมาก หรือในระดับที่สายตามองเห็น (Line of Sight) และการควบคุมแบบอัตโนมัติโดยใช้ระบบการบินด้วยตนเองด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกติดตั้งไว้ในอากาศยาน ซึ่งโดรนแบบที่สองนี้ ได้ถูกนำมาใช้ในวงการสาย Content Creator มากขึ้นด้วย ส่วนใหญ่โดรนที่ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น กล้อง เซ็นเซอร์ หรือกล้องอินฟราเรด มีแนวโน้มที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลโดยที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่รู้ตัว ผู้ควบคุมโดรนจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อควรระวังในการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้การใช้โดรนเป็นไปอย่างถูกต้องและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

ประเภทข้อมูลที่อาจถูกโดรนบันทึกไว้

จากการใช้โดรนเพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ประเภทข้อมูลที่จะเก็บรวบรวมจึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้โดรน ซึ่งอาจแบ่งวัตถุประสงค์การใช้โดรนได้ดังนี้

• เพื่อการบันทึกภาพและวิดีโอของบุคคล เช่น การถ่ายภาพเพื่อทำคลิปลงสื่อโซเชียลมีเดีย การเฝ้าระวังพฤติกรรม การรักษาความปลอดภัย เป็นต้น ทำให้มักจะมีการบันทึกภาพใบหน้าของบุคคลอย่างชัดเจน บันทึกเสียงหรือบทสนทนา หรือการบันทึกภาพหรือวิดีโอเผยให้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว พฤติกรรม หรือลักษณะทางกายภาพของบุคคล หรือการตรวจจับและจับภาพการแผ่รังสีความร้อนที่ปล่อยออกมาจากบุคคล ซึ่งอาจเผยให้เห็นพฤติกรรมของบุคคลนั้น

• เพื่อการสำรวจภูมิศาสตร์ เช่น การตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน การสำรวจภูมิประเทศ การตรวจสอบพื้นที่เกษตรกรรม ที่อาจนำโดรนขึ้นเพื่อบันทึกเฉพาะภาพสถานที่ แหล่งทรัพยากร พื้นที่ต่าง ๆ หรือค้นหาตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้โดยตรง

อย่างไรก็ตาม แม้วัตถุประสงค์หลักของการใช้โดรนจะไม่เกี่ยวข้องกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล แต่อาจมีความเสี่ยงที่โดรนจะบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลมาโดยไม่ได้ตั้งใจ อย่างการบันทึกข้อมูลแวดล้อมประกอบตัวบุคคลที่สามารถระบุไปยังตัวตนของเจ้าของข้อมูลได้ เช่น ภาพบุคคลที่ปรากฏในพื้นหลัง หรือข้อมูลอื่น ๆ เช่น สิ่งของส่วนตัว ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ ตำแหน่ง GPS ทะเบียนรถ หรือพื้นที่สาธารณะใกล้เคียง โดยเฉพาะการใช้โดรนในบริเวณแหล่งชุมชนที่อาจบันทึกภาพที่เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือภาพที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ภายในบ้านได้

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาความเสี่ยงของโดรนที่อาจเก็บรวบรวมข้อมูลที่เข้าข่ายเป็น "ข้อมูลอ่อนไหว" ที่มีความละเอียดอ่อนและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ภายใต้มาตรา 26 ได้ เช่น การบันทึกภาพโดยใช้เทคโนโลยีการจดจําใบหน้าที่ใช้อัลกอริทึมในการวิเคราะห์และระบุตัวบุคคล โดยอ้างอิงจากลักษณะเฉพาะของใบหน้าได้ การบันทึกภาพพฤติกรรมในสถานที่ที่ระบุถึงความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา หรือข้อมูลอื่นใดซึ่งกระทบต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในทำนองเดียวกัน หรืออย่างช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา พบว่ามีการนำกล้อง AI สแกนจับใบหน้าผู้เล่นน้ำสงกรานต์ เพื่อค้นหาผู้ต้องหาคดีติดตัว โดยภาพใบหน้านั้นสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลประวัติอาชญากรรมในฐานข้อมูลของตำรวจได้ จากกรณีนี้เองผู้ควบคุมอุปกรณ์ที่อาจบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลในลักษณะนี้ได้ ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังในการบันทึกภาพเหล่านั้น

ข้อควรระวังเพื่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

การใช้งานโดรนในประเทศไทยปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) และสำนักงาน กสทช. โดยมีประกาศกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2558 กำหนดหลักเกณฑ์ที่ผู้ควบคุมโดรนต้องปฏิบัติตาม ได้แก่ การขึ้นทะเบียนผู้บังคับ การขออนุญาตใช้ความถี่ และข้อจำกัดการบินในพื้นที่หวงห้าม รวมถึงการห้ามใช้โดรนละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น อย่างไรก็ตาม กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทยยังไม่มีการระบุหลักการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยโดรนอย่างชัดเจน ผู้ใช้โดรนจึงอาจอ้างอิงแนวปฏิบัติจากต่างประเทศ เช่น คู่มือ "Drones and Data Protection" จากหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสเปน (AEPD) และคู่มือ "Guidance on the Use of Drones" จากหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไอร์แลนด์ เพื่อเป็นแนวทางคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่บันทึกได้จากโดรน

นอกเหนือจากข้อพิจารณาในการใช้โดรนให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว การใช้โดรนต้องดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ด้วย โดยผู้ควบคุมโดรนอาจมีสถานะเป็น "ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล" หากเป็นผู้กำหนดวัตถุประสงค์และวิธีการประมวลผลข้อมูล ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายและสามารถแสดงให้เห็นว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว หรืออาจเป็น "ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล" หากเก็บข้อมูลตามที่หน่วยงานอื่นกำหนด ทั้งนี้ การใช้โดรนเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือกิจกรรมในครอบครัว เช่น การถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก อาจได้รับยกเว้นจากข้อกำหนดด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ห้ามการถ่ายภาพในที่สาธารณะ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดการนำโดรนขึ้นบิน และควรแจ้งให้บุคคลที่ 'ตั้งใจ' จะบันทึกภาพได้ทราบ รวมถึงมีหน้าที่จัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล

นอกจากนี้ ผู้ควบคุมโดรนในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลต้องคำนึงถึงฐานทางกฎหมายในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลด้วย เช่น เป็นไปตามสัญญา หน้าที่ตามกฎหมาย หรือเพื่อประโยชน์ของชีวิต ร่างกายหรืออนามัย เป็นต้น แต่ถ้าไม่สามารถอาศัยฐานทางกฎหมายเหล่านั้นได้ ผู้ควบคุมโดรนควรขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลก่อนหรือขณะเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะโดรนที่เก็บรวบรวมข้อมูลอ่อนไหว ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้ฐานทางกฎหมายใดก็ตาม ผู้ควบคุมโดรนควรต้องมีการแจ้งรายละเอียดการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบ โดยในกรณีของการบินโดรนนี้อาจต้องพิจารณาว่าในทางปฏิบัติแล้วจะสามารถอนุมานได้หรือไม่ว่าพื้นที่ในบริเวณที่จะใช้ขึ้นบินนั้นเป็นพื้นที่ใด ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด ซึ่งการแจ้งรายละเอียดดังกล่าวอาจไม่สามารถทำได้ผ่านประกาศความเป็นส่วนตัว (Privacy Notice) ผู้ควบคุมโดรนจึงต้องคำนึงถึงช่องทางที่เหมาะสมซึ่งจะขึ้นกับบริบทหรือสภาพแวดล้อมในขณะนั้นด้วย

แนวทางการแจ้งรายละเอียดการประมวลผลข้อมูลเมื่อใช้โดรนในพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงเจ้าของข้อมูลโดยตรงได้

ในกรณีที่ผู้ควบคุมโดรนนำโดรนขึ้นบินในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ที่ไม่สามารถระบุหรือเข้าถึงเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยตรง การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลแก่เจ้าของข้อมูลได้รับทราบตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อาจมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ แนวทางที่สามารถนำมาใช้เพื่อให้ผู้ควบคุมโดรนสามารถแจ้งรายละเอียดการประมวลผลได้สอดคล้องตามหลักการความโปร่งใส (Transparency) อาจทำได้ดังนี้

• ติดตั้งป้ายประกาศหรือป้ายสัญลักษณ์ บริเวณพื้นที่ที่มีการใช้งานโดรน โดยให้มีข้อความระบุถึงการใช้งานโดรนและวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

• จัดทำแผ่นพับ โปสเตอร์ หรือเอกสารประชาสัมพันธ์ สำหรับแจกในพื้นที่จัดงานหรือพื้นที่ที่โดรนจะบินผ่าน

• เผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ของผู้ควบคุมโดรน โดยให้มีข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ระยะเวลาการเก็บข้อมูล สิทธิของเจ้าของข้อมูล และช่องทางติดต่อ

• ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียหรือสื่อท้องถิ่น เช่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือประกาศล่วงหน้าผ่าน Facebook Page เพื่อให้ประชาชนทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับการใช้โดรนในพื้นที่

• ใช้โดรนที่สังเกตเห็นได้ง่าย เช่น สีสด ไฟกระพริบ หรือมีเสียงเตือน เพื่อเป็นการแจ้งเตือนทางอ้อม

• ให้ผู้ควบคุมโดรนมีสัญลักษณ์หรือบัตรแสดงตัวชัดเจน ในกรณีที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับโดรน เพื่อให้สามารถระบุผู้รับผิดชอบได้

โดยสรุปแล้วการใช้โดรนภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลยังคงมีหน้าที่ตามกฎหมายอย่างการแจ้งในเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ทราบรายละเอียดการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคล การจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และควรมีฐานทางกฎหมายรองรับทั้งกรณีเก็บรวบรวมข้อมูลทั่วไปและข้อมูลอ่อนไหว รวมถึงมาตรการรองรับการใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น ผู้ควบคุมโดรนจึงควรศึกษากฎหมายให้รอบคอบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและข้อพิพาททางกฎหมายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตจากการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนหรือมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และเพื่อเคารพสิทธิของเจ้าของข้อมูลเป็นสำคัญ

อ้างอิง : EP.1 โดรนติดอาวุธพลิกโฉมเกมการสงคราม, (Feb. 12, 2024), https://rta.mi.th/ep-1-โดรนติดอาวุธพลิกโฉม/ (last visited Apr 9, 2025).
drones-and-data-protection.pdf, https://www.aepd.es/guides/drones-and-data-protection.pdf (last visited Apr 2, 2025).
EDUARDO USTARAN, EUROPEAN DATA PROTECTION LAW AND PRACTICE.

ปาลิตา รุ่งระวี
Lead - Legal Technology Counselor
กัญญาณัฐ ท้วมศิริ
Legal Technology Counselor
ราชนิภักดิ์ ปรีชาจารย์
Legal Technology Counselor
ปุณณ์ญาณีย์ มหจิตรสัตยา
Legal Intern
เกี่ยวกับเอเทนติค ข่าวสารและบทความล่าสุด บริการของเรา ติดต่อเรา ร่วมงานกับเรา