

เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2568 ที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งได้กลายมาเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปิดให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ตามกฎหมาย โดยเป็นการรับรองถึงสิทธิในการสร้างครอบครัวอย่างเท่าเทียม รวมถึงยังช่วยให้คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการต่าง ๆ ได้ เช่นเดียวกับคู่สมรสต่างเพศ
อย่างไรก็ตาม เกิดข้อซักถามจากกลุ่มองค์กรที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลคู่สมรสของบุคลากรเพื่อประโยชน์ในการมอบสิทธิสวัสดิการแก่ครอบครัวของบุคลากร ว่าการเก็บข้อมูลของคู่สมรสเพศเดียวกันในลักษณะนี้ ถือเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ประเภทข้อมูลอ่อนไหวตามมาตรา 26 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (“PDPA”) หรือไม่ และหากใช่ จำเป็นต้องดำเนินการขอความยินยอมโดยชัดแจ้งจากเจ้าของข้อมูลก่อนเก็บรวบรวมข้อมูลหรือไม่ โดยสามารถพิจารณาได้ดังนี้
1. ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวภายใต้กฎหมาย PDPA
กฎหมาย PDPA ได้กำหนดครอบคลุมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล อันได้แก่ข้อมูลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ โดยการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปนี้ องค์กรในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลจำเป็นจะต้องชี้แจงความจำเป็นในการเก็บรวบรวมข้อมูลและอ้างอิงฐานการประมวลผลตามมาตรา 24 ที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขพิเศษสำหรับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลบางประเภทซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบกับเจ้าของข้อมูลมากกว่าข้อมูลทั่วไป เช่น ข้อมูลเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม เป็นต้น (ในที่นี้จะขอเรียกว่า "ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว") โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวนี้ องค์กรจำเป็นต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลโดยชัดแจ้ง เว้นแต่จะเป็นไปตามข้อยกเว้นอื่น ๆ ภายใต้มาตรา 26 ของ PDPA
2. การเก็บรวบรวมข้อมูลคู่สมรสเพศเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการมอบสวัสดิการคู่สมรสของพนักงาน ถือเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมทางเพศ ตามมาตรา 26 หรือไม่?
พฤติกรรมทางเพศ หรือ sexual orientation หมายความถึงความสามารถของบุคคลในการมีประสบการณ์ทางอารมณ์อย่างลึกซึ้ง ความรักโรแมนติก หรือความดึงดูดทางเพศ รวมถึงการเชื่อมโยงทางความใกล้ชิด/ทางเพศกับบุคคลที่มีเพศตรงข้าม เพศเดียวกัน หรือมากกว่าหนึ่งเพศ เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่าในกรณีที่องค์กรเก็บข้อมูลคู่สมรสของบุคลากรซึ่งอาจเป็นคู่สมรสเพศเดียวกัน สามารถตีความว่าเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมทางเพศภายใต้มาตรา 26 หรือไม่
ในการนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศอังกฤษ (Information Commissioner's Office หรือ ICO) ได้กล่าวถึงการเก็บข้อมูลในลักษณะดังกล่าวว่า การเก็บข้อมูลบางอย่างอาจทำให้สามารถอนุมานผล ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวได้ในทางอ้อม (inferred data) เช่น ภาพถ่ายหรือชื่อของบุคคลที่อาจสื่อถึงความเชื่อทางศาสนา หรือเชื้อชาติของบุคคล หรือ การเก็บข้อมูลคู่สมรสเพศเดียวกันที่อาจสื่อถึงรสนิยทางเพศหรือพฤติกรรมทางเพศของบุคคลได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาว่าข้อมูล inferred data นี้ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวหรือไม่ จะต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
• วัตถุประสงค์การประมวลผล – การประมวลผลนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจะค้นหาหรือระบุข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวหรือไม่ เช่น ตั้งใจประมวลผลเพื่อที่จะรู้ว่าบุคคลนั้นมีรสนิยมทางเพศอย่างไร
• การปฏิบัติต่อบุคคลแต่ละกลุ่ม – ภายหลังจากที่ได้อนุมานข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวนั้น องค์กรตั้งใจที่จะปฏิบัติต่อบุคคลแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันตามคุณลักษณะที่เป็นข้อมูลอ่อนไหวนั้นหรือไม่ เช่น การให้สิทธิหรือปฏิเสธสิทธิบางอย่างเฉพาะกับบุคคลที่มีรสนิยมทางเพศแบบหนึ่ง
ดังนั้น ในกรณีการเก็บรวบรวมข้อมูลคู่สมรสเพื่อประโยชน์ทางด้านการจัดให้มีสวัสดิการสำหรับบุคลากร ซึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อระบุพฤติกรรมทางเพศ และมิได้นำไปสู่การปฏิบัติต่อบุคคลที่มีเพศสภาพแตกต่างกันนั้น อาจไม่เข้าลักษณะของการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว
3. การเก็บรวบรวมข้อมูลคู่สมรสเพศเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการมอบสวัสดิการคู่สมรสของพนักงานอย่างถูกต้อง
เพื่อให้การเก็บรวบรวมข้อมูลคู่สมรสเพศเดียวกันเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย องค์กรควรดำเนินการตามแนวทางต่อไปนี้:
3.1 การอ้างอิงฐานทางกฎหมายในการประมวลผล
หากพิจารณาแล้วว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป องค์กรสามารถดำเนินการโดยอ้างอิงฐานทางกฎหมายตามมาตรา 24 ได้ เช่น:
• ฐานสัญญา - การเก็บรวบรวมข้อมูลคู่สมรสเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างงานหรือข้อตกลงในการจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานและครอบครัว
• ฐานประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย - องค์กรมีความจำเป็นในการเก็บรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายในการจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานและครอบครัว โดยไม่ล่วงล้ำสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเจ้าของข้อมูล
3.2 แนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสม
เพื่อให้การเก็บรวบรวมข้อมูลคู่สมรสเพศเดียวกันเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล องค์กรควรดำเนินการดังนี้:
1. การแจ้งรายละเอียดการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Notice) - จัดทำและแจ้งรายละเอียดการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่เจ้าของข้อมูลทราบ โดยเฉพาะการระบุวัตถุประสงค์ และฐานทางกฎหมายในการประมวลผล
2. การจัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัย - จัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการสูญหาย เข้าถึง ใช้ เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบ
3. การเก็บรวบรวมข้อมูลเท่าที่จำเป็น - เก็บรวบรวมข้อมูลเฉพาะที่จำเป็นต่อการจัดสวัสดิการเท่านั้น เช่น ชื่อ-นามสกุลของคู่สมรส สิทธิที่จะขอเข้าถึงสวัสดิการ
4. การปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน - ปฏิบัติต่อข้อมูลคู่สมรสเพศเดียวกันและคู่สมรสต่างเพศอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ
ด้วยก้าวสำคัญของประเทศไทยในการรับรองสิทธิของคู่รักเพศเดียวกัน องค์กรต่าง ๆ มีโอกาสที่จะแสดงถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลาย ผ่านการจัดสวัสดิการที่ครอบคลุมและเท่าเทียมสำหรับพนักงานทุกคน ทั้งนี้ การเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลคู่สมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเคารพความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล จะช่วยส่งเสริมให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
Source
https://www.undp.org/sites/g/files/zskgke326/files/2023-01/personal-data-lgbtqi-report-eng.pdf
https://ico.org.uk/for-organisations/uk-gdpr-guidance-and-resources/lawful-basis/special-category-data/what-is-special-category-data/